ผ่าคลอด ในกรณีที่แม่ไม่สามารถคลอดบุตรทางช่องคลอด

เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด คุณแม่ท้องหลายท่านก็อาจจะลังเลอยู่ว่าจะเลือกคลอดลูกด้วยวิธีไหนดีระหว่าง คลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าคุณแม่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน ก็สามารถคลอดได้เอง 70-95% ส่วนที่เหลืออาจจะต้องผ่าคลอดขึ้นอยู่กับสภาพครรภ์และข้อบ่งชี้ต่าง ๆ ทางการแพทย์ด้วย เรามาดูกันว่าข้อดีและข้อเสียของการคลอดแต่ละวิธีนั้นมีอะไรบ้างเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

การคลอดตามธรรมชาติ หรือการคลอดปกติ คือการคลอดเองทางช่องคลอด ซึ่งถือเป็นวิธีที่ถือมีความปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกค่อนข้างมาก และมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆหลังคลอดได้น้อยกว่า การคลอดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การผ่าคลอด หรือการคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอดทางช่องคลอด เช่น การใช้คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศช่วยคลอด

สำหรับการผ่าตัดคลอด ในทางการแพทย์แล้ว เป็นวิธีการคลอดที่ทำในเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะต่างๆ บางประการที่เป็นข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับการผ่าตัดคลอด เช่น มีโรคประจำตัวบางอย่างที่หากคลอดเอง ตามธรมชาติอาจมีอันตรายมากกว่า, ภาวะทารกตัวใหญ่กว่าเชิงกรานคุณแม่, ภาวะรกเกาะต่ำคลุมปากมดลูก, ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ(แนวที่ผิดปกติ) เป็นต้น เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่าการคลอดโดยวิธีการผ่าตัดน่าจะมีความเสี่ยงต่อคุณแม่และทารกน้อยกว่าการคลอดเอง อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง หรือข้อเสียบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

ในคุณแม่บางท่าน อาจต้องการผ่าคลอดเพียงเพราะเหตุผลบางอย่าง เช่น การเลือกวันเวลาเกิดของทารก, การกลัวความเจ็บปวดหากต้องคลอดธรรมชาติ, ความสะดวกในการนอนรพ., กังวลเกี่ยวกับสรีระร่างกายบริเวณเชิงกรานหลังจากคลอดบุตร เป็นต้น

ดังนั้น หากคุณแม่ทราบถึงความจำเป็นของการ ผ่าคลอด, ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการผ่าตัดคลอดแล้ว และสามารถยอมรับและเข้าใจจะทำให้สามารถเลือกวิธีการคลอดด้วยตนเอง ร่วมกับรับฟังความคิดเห็นของสูติแพทย์ได้มากขึ้น

อันตรายจากการผ่าคลอดเมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดธรรมชาติ

1.อันตรายจากการดมยาสลบ หรือการระงับความรู้สึก เช่น การบล็อคเส้นประสาทที่หลังในระหว่างผ่าตัดคลอด ตั้งแต่การแพ้ยาบางชนิดที่ใช้ระงับความรู้สึก การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำลงทันทีจากฤทธิ์ยาบล็อคหลัง การสำลักน้ำหรืออาหารเข้าหลอดลมซึ่งนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อตามมาได้
2.การเสียเลือดจากการผ่าตัดคลอดจะมากกว่าการเสียเลือดจากการคลอดธรรมชาติ โดยประมาณ 2 เท่า ทั้งจากแผลที่หน้าท้องและแผลที่ตัวมดลูก
3.การผ่าตัดมีโอกาสโดนอวัยวะอื่นๆ ข้างเคียงกับมดลูกได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ เป็นต้น ซึ่งทำให้ต้องได้รับการแก้ไขและรักษาเพิ่มเติมอีกด้วย
4.หากเป็นการผ่าตัดคลอดที่มากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปมีโอกาสที่คุณแม่จะมีพังผืดในช่องท้องค่อนข้างมาก และการผ่าตัดในครั้งต่อไปจะยากขึ้นด้วย
5.มีโอกาสที่คุณแม่จะมีภาวะรกเกาะต่ำ และรกเกาะติดแน่นมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าผ่าตัดคลอดมากกว่า 2 ครั้ง และมากกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเสียเลือดมาก, การตัดมดลูกหลังคลอดมากขึ้น
6.มีโอกาสแผลผ่าตัดจะอักเสบติดเชื้อ, แผลแยกได้ และจะมีอาการเจ็บแผลหลังคลอดมากและนานกว่าการคลอดธรรมชาติ และอาจมีผลถึงการลุก นั่ง เดิน การเลี้ยงลูกจะทำให้ลำบากกว่าคุณแม่ที่คลอดเองธรรมชาติด้วย
7.คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาแล้ว การตั้งครรภ์และการคลอดครั้งต่อไป ส่วนใหญ่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดอีก และมีความเสี่ยงของการเกิดมดลูกปริแตกในครรภ์ถัดไป หากเจ็บครรภ์ก่อนได้รับการผ่าคลอด จากการปริของแผลเดิมที่ตัวมดลูก หากเกิดภาวะมดลูกแตกจะมีอันตรายทั้งแม่และลูก จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน